กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานอย่างถูกวิธี ช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ และการเสียชีวิตกรณีประสบอุบัติเหตุทางถนน โดยให้ใช้หมวกนิรภัยแบบเต็มใบ ที่มีขนาดพอดีกับศีรษะ มีเครื่องหมาย มอก. กำกับ ไม่นำหมวกที่เคยประสบอุบัติเหตุหรือกระแทกอย่างแรงมาใช้งาน เปลี่ยนหมวกใบใหม่ทุกๆ 5 ปี ส่วนการสวมหมวก ให้ปรับความตึงของสายรัดคางให้แน่นหนาเพียงพอที่หมวกจะไม่หลุดจากศีรษะกรณี ประสบอุบัติเหตุ
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า แม้หมวกนิรภัยจะไม่ใช่อุปกรณ์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แต่การสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานอย่างถูกวิธี เมื่อประสบอุบัติเหตุ นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายจากการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะได้ถึงร้อยละ 70 แล้ว ยังป้องกันการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 40 เพื่อความปลอดภัย ขอแนะวิธีเลือกใช้และการสวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี ดังนี้ การเลือกใช้หมวกนิรภัย ใช้หมวกนิรภัยแบบเต็มใบ ที่มีขนาดพอดีกับศีรษะ มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) กำกับ ไม่ใช้หมวกนิรภัยที่มีขนาดใหญ่กว่าศีรษะ เพราะหากประสบอุบัติเหตุ จะหลุดออกจากศีรษะได้ง่าย เลือกใช้หมวกที่มีสีสันสดใสหรือสีสว่าง จะช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไกล ไม่นำหมวกนิรภัยที่เคยประสบอุบัติเหตุหรือกระแทกอย่างรุนแรงมาใช้งาน เปลี่ยนหมวกนิรภัยใบใหม่ทุกๆ 5 ปี หรือภายหลังหมวกกระแทกพื้นหรือประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรง เนื่องจากวัสดุบางชิ้นอาจหมดอายุการใช้งาน การสวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี สวมหมวกนิรภัยตรงๆ บนศีรษะ ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง โดยส่วนหน้าคลุมหน้าผากทั้งหมดจนถึงขอบคิ้ว ส่วนที่เหลือคลุมพื้นที่บนศีรษะให้มากที่สุด ปรับความตึงของสายรัดคางให้กระชับใต้คาง (สามารถสอดนิ้วได้ประมาณ 2 นิ้ว) สายรัดข้างไม่บิดหรือหย่อน รวมถึงแน่นหนาเพียงพอ ที่หมวกจะไม่หลุดออกจากศีรษะ หรือเลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งได้ง่าย วิธียืดอายุการใช้งาน ระวังอย่าให้หมวกนิรภัยกระแทกพื้นหรือของแข็งอย่างรุนแรง เพราะโฟมจะยุบตัวและเกิดรอยร้าว ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการรองรับแรงกระแทก เมื่อประสบอุบัติเหตุ ไม่เก็บหมวกนิรภัยไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง กลางแจ้ง หรือใกล้แหล่งความร้อนเป็นระยะเวลานาน รวมถึงห้ามนำทินเนอร์ เบนซิน น้ำยาเคลือบสีรถยนต์มาเช็ดหมวกนิรภัย เพราะอาจทำให้โฟมด้านในละลาย ส่งผลให้หมวกนิรภัยเสื่อมสภาพเร็วขึ้น วิธีสวมหมวกนิรภัยให้เด็กเล็ก ผู้ปกครองควรปลูกฝังค่านิยมในการสวมหมวกนิรภัยแก่เด็ก สวมหมวกนิรภัยให้เด็กเห็นจนเคยชิน ไม่ล้อเลียนเวลาเด็กสวมหมวก หรือบังคับให้เด็กใส่หมวก เลือกหมวกที่มีสีสันสวยงามหรือลวดลวยการ์ตูน จะดึงดูดความสนใจของเด็กให้สวมใส่หมวกนิรภัยได้ง่ายขึ้น รวมถึงให้เด็กสวมใส่หมวกที่มีขนาดพอดีกับศีรษะ หากขนาดศีรษะเด็กเพิ่มขึ้น ควรเปลี่ยนหมวกใบใหม่ และทุกครั้งที่นำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรให้เด็กสวมหมวกนิรภัยด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการบาดเจ็บที่ศรีษะกรณีประสบอุบัติเหตุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น